ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) ได้ลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556

Download: คำประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต (ไฟล์ PDF)

นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

คำนิยาม

คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทฯโดยเฉพาะ หรือ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้

บทนำ

บริษัท คิง เจน  จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ (ต่อไปจะเรียกว่าบริษัทฯ ) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจและบริหารงานอย่างมีคุณธรรม ตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งตระหนักดีว่าการทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นภัยร้ายแรง  การก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” หรือ Private Sector Collective Action Against Corruption (CAC) และได้กำหนดให้มาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานซึ่งคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทุกคนมีหน้าที่ต้องถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวโดยเคร่งครัด

บริษัทฯ เชื่อว่าการดำเนินงานโดยยึดหลักการตามนโยบายและคู่มือมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันจะทำให้บริษัทฯ ได้รับความยอมรับและไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ในการสร้างมาตรฐานค่าความนิยมการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปฉบับเสนอคณะกรรมการบริษัททบทวนและอนุมัติ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ ข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม และเพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณาและการปฏิบัติอย่างรอบคอบ บริษัทฯ จึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น” เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ดังนี้

  • ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ได้แก่ การรับสิ่งของ ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง เงินเรี่ยไร เงินบริจาคและผลประโยชน์อื่นใด ให้แก่ตนเองและครอบครัว จากบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัทฯ
  • ครอบคลุมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชั่นทั่วทั้งองค์กรเป็นประจำทุกปี ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
  • การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) และระเบียบ คู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติอื่นที่บริษัทฯจะกำหนดขึ้นต่อไป
  • เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอร์รัปชั่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้
  • การเลี้ยงรับรอง ของกำนัล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ การให้ มอบ หรือรับ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงรับรอง ของกำนัลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • เงินบริจาคเพื่อการกุศล เงินเรี่ยไร หรือเงินสนับสนุนการให้ หรือรับ เงินบริจาค เงินเรี่ยไร หรือเงินสนับสนุน ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่า เงินบริจาค เงินเรี่ยไร หรือเงินสนับสนุน ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
  • ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างห้ามให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิดกับคู่ค้า คู่สัญญา หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกำหนดไว้
  • ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นการกระทำผิดคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) ของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  • คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่า ฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  • คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน และระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
  • กรรมการผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
  • ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่า เป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
  • กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และคู่มือจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน โดยให้คณะกรรมการบริหารและผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันระบุปัจจัยเสี่ยงจากการคอร์รัปชัน ผลกระทบและโอกาสที่อาจเกิดขึ้น มาตรการที่ต้องปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงที่ประเมินได้ รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการติดตาม สอบทานการปฏิบัติงาน และรายงานผลให้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัททราบ
  • พนักงานของบริษัทฯ ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัย หรือข้อซักถาม ให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามคู่มือจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
  • บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชั่น
  • บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทฯ ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างและพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ ให้มีจิตสำนึกที่ดี ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ พร้อมทั้งรักษาวัฒนธรรมขององค์กรที่ยึดมั่นว่า “คอร์รัปชั่น” เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน

บริษัทฯ มีนโยบายในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อให้พนักงาน ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจได้รับทราบการสื่อสารข้อมูลข่าวสารภายในบริษัท และบริษัทในเครือ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำนโยบายไปปฏิบัติ

ส่วนการเปิดเผยข้อมูล บริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลแก่พนักงาน ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และผู้เกี่ยวข้อง ผ่านรายงานประจำปี(Annual Report) เว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทและบริษัทในเครือ มีการดำเนินงานที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

บริษัทฯ ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) ของบริษัท

คณะกรรมการบริษัท เปิดโอกาสให้พนักงานบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีช่องทางในการร้องเรียน การแสดงความเห็น และแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย โดยกำหนดให้ฝ่ายตรวจสอบภายในทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับข้อมูลเรื่องร้องเรียนด้านการกำกับดูแลกิจการและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ ของบริษัทฯ

ขอบเขตเรื่องที่รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

  • การกระทำที่ทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • การกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ หรือมีผลต่อระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ จนทำให้สงสัยได้ว่า อาจะเป็นช่องทางในการกระทำทุจริต
  • การกระทำที่ทำให้บริษัทฯ เสียผลประโยชน์ กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ
  • การกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม คู่มือจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct)

ช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

  • แจ้งผ่านระบบ ที่นี่
  • E-mail:  audit_kgen@kinggen.co.th ถึงคณะกรรมการตรวจสอบ และผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน
  • จดหมาย จัดส่งทางไปรษณีย์ หรือยื่นส่งโดยตรง ที่
  • คณะกรรมการตรวจสอบ หรือ ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายในที่ บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) เลขที่ 589/23 อาคาร เซ็นทรัล ซิตี้ ทาวเวอร์ ห้องเลขที่ OF2301 ชั้น 23 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาเหนือ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 โทร.02-079-1118 กด 4

กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับข้อร้องเรียน

  • ฝ่ายตรวจสอบภายในรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืน หรือการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น
  • หากข้อร้องเรียนมีมูลความผิด ฝ่ายตรวจสอบภายในจะรวบรวมหลักฐานส่งให้กรรมการผู้จัดการ เพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นเลขาคณะกรรมการสอบสวน 
  • คณะกรรมการฯ ทำการสอบสวนข้อเท็จจริง และรายงานผลพร้อมทั้งกำหนดมาตรการดำเนินการเพื่อระงับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เสนอต่อกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน และคณะกรรมการตรวจสอบทราบ
  • ฝ่ายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่แจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบ หากผู้ร้องเรียนเปิดเผยตนเอง

มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส  บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส จะได้รับความคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของบริษัท หรือผู้มีส่วนได้เสีย
  • ผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส สามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเองได้ เว้นแต่ ผู้ร้องเรียน เห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลจะทำให้บริษัทฯ สามารถรายงานความคืบหน้า หรือสอบถามข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม หรือชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ หรือบรรเทาความเสียหายได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
  • คณะกรรมการตรวจสอบ จะพิจารณาให้ความเป็นธรรมและปกป้องผู้ร้องเรียน ผู้รับเรื่องร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ จะเปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้ร้องเรียน ผู้รับเรื่องร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานตรวจสอบข้อเท็จจริง